การทำงานสามารถเป็นการปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา หากเราทำด้วยแรงจูงใจที่เป็นกุศล เช่น ทำเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น หรือเพื่อฝึกฝนพัฒนาตน โดยมุ่งให้มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง อดทนมากขึ้น หรือทำโดยมีธรรมะเข้ามากำกับ เช่น ทำด้วยความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อหน้าที่ หรือทำด้วยความปรารถนาดีต่อส่วนรวม การงานยังเป็นโอกาสสำหรับการเจริญสติ โดยเฉพาะงานการที่ไม่ต้องใช้ความคิดมาก เช่น ล้างจาน ถูบ้าน ซักผ้า ในขณะที่ทำงาน ใจก็อยู่กับงาน รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของมือและอวัยวะส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องไปเพ่งหรือจดจ่อแนบแน่นเกินไปนัก ถ้าจิตเผลอฟุ้งปรุงแต่งไปนอกตัว ระลึกรู้เมื่อใดก็พาจิตกลับมาอยู่กับงาน จิตจะฟุ้งไปเท่าไร ก็ไม่รำคาญหงุดหงิด แต่ถึงหงุดหงิดก็รู้ว่าหงุดหงิด ไม่ปรุงแต่งมากไปกว่านั้น \n\nแม้เป็นงานที่ต้องใช้ความคิด ก็ยังควรเอาสติมาใช้กับงานอยู่นั่นเอง เช่น คิดเรื่องอะไร ก็ให้สติกำกับใจอยู่กับเรื่องนั้น หากเผลอไปคิดเรื่องอื่น ก็ให้สติพาใจกลับมาอยู่กับเรื่องเดิมจนกว่าจะแล้วเสร็จ หากย้ำคิดย้ำครุ่นไม่ยอมเลิก สติก็จะช่วยให้ปล่อยวางได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญก็คือไม่ว่าจะทำอะไร อย่าปล่อยใจไปพะวงกับเรื่องข้างหน้า ว่าเมื่อไรจะเสร็จ เสร็จแล้วจะเป็นอย่างไร หรือติดสะดุดกับเรื่องราวในอดีต ควรมีสติรู้อาการดังกล่าว แล้วพาใจกลับมาอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ใจที่มัวพะวงกับอดีตหรืออนาคต จะทำงานด้วยความเครียด ส่วนใจที่อยู่กับปัจจุบันโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับ จะทำงานด้วยความผ่อนคลาย โปร่งเบามากกว่า เพราะจิตไม่มีเรื่องหนักใจให้ต้องแบก \n\nการทำงานยังสามารถเป็นการปฏิบัติธรรมได้หากรู้จักใช้งานเป็นเครื่องขัดเกลาหรือลดละอัตตา เช่น ทำงานโดยคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าของตัวเอง หรือฝึกใจไม่ให้หวั่นไหวต่อคำสรรเสริญและคำตำหนิ ความสำเร็จและความล้มเหลว เมื่อใดที่ถูกวิจารณ์ ก็ถือว่าเป็นของดีที่มาช่วยสยบอัตตาไม่ให้เหลิง หรือทดสอบสติว่าจะมาทันการหรือไม่ หากเผลอโกรธ ก็ถือว่าสอบตก แต่ก็ยังสามารถแก้ตัวใหม่ได้เสมอ
MARC Information